บทความน่ารู้เกี่ยวกับโปรตีน 
หลายคนรู้จัก “โปรตีน” แต่ไม่รู้ว่า ในแต่ละวันร่างกายควรได้รับมากน้อยแค่ไหน และควรจะกินโปรตีนจากสัตว์หรือพืชดี?

  โปรตีนจากสัตว์ เช่น เนื้อหมู วัว ไก่ เป็ด ปลา นม ชีส โยเกิร์ตฯลฯ
  ส่วนโปรตีนจากพืช พบมากในพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วฝักยาว รวมไปถึง ชะอม สะตอ กระถิน สังเกตง่าย ๆ พืชที่มีกลิ่นแรงจะมีซัลเฟอร์ หรือกำมะถัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรตีน

  ข้อเสียของโปรตีนจากพืชต่างจากสัตว์ คือ กรดอะมิโนน้อยชนิดกว่าโปรตีนจากสัตว์ แต่โปรตีนจากสัตว์มีกำมะถันเป็นส่วนประกอบค่อนข้างมาก ถ้ากินโปรตีนจากเนื้อสัตว์มาก ๆ เลือดก็เป็นกรด เพราะมีกรดกำมะถันมาก ถ้ากินโปรตีนจากพืช กรดกำมะถันน้อยกว่า แต่อาจจะขาดกรดอะมิโนบางตัวไป

   มีสถาบันเพื่อการกินและสุขภาพของสหรัฐอเมริกา คือ “ดานาฟาเบอร์” บอกว่า ถ้ากินโปรตีนจากพืชเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เป็นอาหารสมดุล เพราะฉะนั้นจะต้องกินโปรตีนจากพืชร่วมกับสัตว์ โดยโปรตีนจากสัตว์ให้เน้นที่มีโอเมก้า3 คือ โปรตีนจากเนื้อปลา เพราะนอกจากโอเมก้า3 กำมะถันน้อยแล้ว โอกาสจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรดก็น้อยกว่าเนื้อแดง ยิ่งในอาหารจำพวกเนื้อแดงที่ผ่านกระบวนการแปรรูป เช่น แหนม ไส้กรอก เบคอน แฮม หมูรมควัน หมูสวรรค์ ความเป็นกรดจะสูงกว่าเนื้อสัตว์ที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป
  เพราะฉะนั้นการกินโปรตีนจากสัตว์ หรือพืช อย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป เช่น กินเนื้อสัตว์มากอาจจะทำให้เลือดเป็นกรด ทำให้สุขภาพไม่ดี เกิดการอักเสบในร่างกาย แต่ถ้าหนักไปทางโปรตีนจากพืชอาจทำให้ขาดวิตามินบางตัว โดยเฉพาะวิตามินบี 12 ที่มีอยู่ในเนื้อสัตว์ อาจทำให้เลือดจาง เม็ดเลือดแดงรูปร่างผิดปกติไป ดังนั้นควรกินแบบผสมผสานกันดีที่สุด

  ถามว่าควรกินโปรตีนมากน้อยแค่ไหนในแต่ละวัน ? นพ.กฤษดา กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของแต่ละบุคคล โดยหลักจะต้องกินโปรตีนประมาณ 0.5 -1 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กก. สมมุติว่าหนัก 60 กก. ต้องกินโปรตีนไม่ถึง 1 ขีด นั่นหมายความว่า โปรตีนต้องดูดซึมได้ทั้งหมดที่กินเข้าไป แต่ในความเป็นจริงเรากินโปรตีน 60 กรัมอาจจะดูดซึมไม่ถึง 60 กรัมก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องกินเผื่ออีก 1 เท่าตัว

ถ้าใครรัก“กินเจ” หรือ “กินมังสวิรัติ”มีสิ่งที่ช่วยอุดช่องโหว่ได้ คือ การกินวิตามินบี 12 เติมเข้าไป หรือถ้า “กินมังสวิรัติ” ก็ต้องกินไข่ด้วยจะช่วยเติมช่องโหว่กรดอะมิโนที่ขาด
ไปได้

  ภายหลังการกินเนื้อสัตว์แนะนำว่า ควรกินอาหารที่มีแมกนีเซียม และแคลเซียม โดยเฉพาะอาหารประเภทผักใบเขียวจัดเพราะมีฤทธิ์เป็นด่าง ไปช่วยจูนให้กรดกำมะถันจากเนื้อสัตว์จางลง ดังนั้นพอกินเนื้อสัตว์ขอให้กินผักใบเขียวเยอะ ๆ เน้นที่ใบ อย่าไปกินก้าน จะช่วยต้านกรดได้

  ถามว่าไม่กินเนื้อสัตว์เลยได้หรือไม่ ? นพ.กฤษดา บอกว่า บางคนอาจจะคิดว่าทำไมสัตว์บางชนิด เช่น แพะกินแต่หญ้าได้ ต้องบอกว่าลำไส้ของสัตว์เหล่านี้สามารถสร้างวิตามินบี 12 ได้ แต่มนุษย์มีข้อเสียคือลำไส้ไม่สามารถสร้างได้ ตรงนี้พิสูจน์ว่ามนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างให้เป็นมังสวิรัต 100% ให้เป็นครึ่งเนื้อครึ่งผัก

สรุปว่า ควรกินโปรตีนทั้งจากสัตว์และพืชผสมผสานกัน ส่วนคนที่กินเนื้อสัตว์มาก ๆ ควรกินผักใบเขียวร่วมด้วย จะช่วยลดกรดในเลือดได้ สำหรับคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์เลยก็ควรกินวิตามินบี12 เสริมเข้าไปด้วย.

ขอบคุณข้อมูลดีๆ
 นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ 
และ http://www.dailynews.co.th/article/1490/236086