มังคุด (อังกฤษ: mangosteen) 
วงศ์: Clusiaceae
สกุล: Garcinia
สปีชีส์: G. mangostana

ชื่อวิทยาศาสตร์: Garcinia mangostana Linn.
ชื่ออื่นๆ ภาษามลายูว่ามังกุสตาน (manggustan) ภาษาอินโดนีเซียเรียกมังกีส ภาษาพม่าเรียกมิงกุทธี ภาษาสิงหลเรียกมังกุส

เป็นพันธุ์ไม้ไม่ผลัดใบเขตร้อนชนิดหนึ่ง เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ที่หมู่เกาะซุนดาและหมู่เกาะโมลุกกะ แพร่กระจายพันธุ์ไปสู่หมู่เกาะอินดีสตะวันตกเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 24 แล้วจึงไปสู่ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส ปานามา เอกวาดอร์ ไปจนถึงฮาวาย ในประเทศไทยมีการปลูกมังคุดมานานแล้วเช่นกัน เพราะมีกล่าวถึงในพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 นอกจากนั้น ในบริเวณโรงพยาบาลศิริราชยังเคยเป็นที่ตั้งของวังที่มีชื่อว่า "วังสวนมังคุด" ในจดหมายเหตุของราชทูตจากศรีลังกาที่เข้ามาขอพระสงฆ์ไทย ได้กล่าวว่ามังคุดเป็นหนึ่งในผลไม้ที่นำออกมารับรองคณะทูต


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มังคุดเป็นไม้ยืนต้น สูง 10-12 เมตร ทุกส่วนมียางสีเหลือง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 6-11 ซม. ยาว 15-25 ซม. เนื้อใบหนาและค่อนข้างเหนียวคล้ายหนัง หลังใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบสีอ่อนกว่า ดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง สมบูรณ์เพศหรือแยกเพศ กลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลืองติดอยู่จนเป็นผล กลีบดอกสีแดง ฉ่ำน้ำ ผลเป็นผลสด ค่อนข้างกลม เปลือกนอกค่อนข้างแข็ง แก่เต็มที่มีสีม่วงแดง ยางสีเหลือง มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-6 เซนติเมตร เนื้อในมีสีขาวฉ่ำน้ำ อาจมีเมล็ดอยู่ในเนื้อผลได้ ขึ้นอยู่กับขนาดและอายุของผล จำนวนกลีบของเนื้อจะเท่ากับจำนวนกลีบดอกที่อยู่ด้านล่างของเปลือก เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร เมล็ดไม่สามารถใช้รับประทานได้
ส่วนของเนื้อผลที่กินได้ของมังคุดเป็นชั้นเอนโคาร์บ ซึ่งพัฒนามาจากเปลือกหุ้มเมล็ดเรียกว่า aril มีสีขาว มีกลิ่นหอม สารระเหยได้ส่วนใหญ่คือ hexyl acetate, hexenolและ α-copaene ส่วนล่างสุดของผลที่เป็นแถบสีเข้มที่ติดอยู่เรียงเป็นวงพัฒนามาจากปลายยอดเกสรตัวเมีย (stigma)มีจำนวนเท่ากับจำนวนเมล็ดภายในผล เมล็ดมังคุดเพาะยากและต้องได้รับความชื้นจนกว่าจะงอก เมล็ดมังคุดเกิดจากชั้นนิวเซลลาร์ ไม่ได้มาจากการปฏิสนธิ เมล็ดจะงอกได้ทันทีเมื่อออกจากผลแต่จะตายทันทีที่แห้ง
มังคุดมีพันธุ์พื้นเมืองเพียงพันธุ์เดียว แต่ถ้าปลูกต่างบริเวณกันอาจมีความผันแปรไปได้บ้าง ในประเทศไทยจะพบความแตกต่างได้ระหว่างมังคุดในแถบภาคกลางหรือมังคุดเมืองนนท์ ที่ผลเล็ก ขั้วยาว เปลือกบาง กับมังคุดปักษ์ใต้ที่ผลใหญ่กว่า ขั้วผลสั้น เปลือกหนา ปัจจุบันมีการเพาะปลูกและขายบนเกาะบางเกาะในหมู่เกาะฮาวาย ต้นมังคุดต้องปลูกในสภาพอากาศอบอุ่น หากอุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 4 °C จะทำให้ต้นมังคุดตายได้

การใช้ประโยชน์

มังคุดเป็นผลไม้จากเอเชียที่ได้รับความนิยมมาก มังคุดได้รับขนานนามว่าเป็น "ราชินีของผลไม้" อาจเป็นเพราะด้วยลักษณะภายนอกของผลที่มีกลีบเลี้ยงติด อยู่ที่หัวขั้วของผลคล้ายมงกุฎของพระราชินีส่วนเนื้อในก็มีสีขาวสะอาด มีรสชาติที่แสนหวาน อร่อยอย่างยากที่จะหาผลไม้อื่นมาเทียบได้ มีการนำมังคุดมาประกอบอาหารบ้างทั้งอาหารคาว เช่น แกง ยำ และอาหารหวาน เช่น มังคุดลอยแก้ว แยมมังคุด มังคุดกวน มังคุดแช่อิ่ม ในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีการทำมังคุดคัด ด้วยการแกะเนื้อมังคุดห่ามออกมาเสียบไม้รับประทานในขณะที่ส่วนใหญ่จะนิยมรับประทางมุงคุดสุกเป็นผลไม้

คุณสมบัติทางยา
เปลือกของมังคุดมีสารให้รสฝาด คือแทนนิน แซนโทน (โดยเฉพาะแมงโกสติน) แทนนินมีฤทธิ์ฝาดสมาน ทำให้แผลหายเร็ว แมงโกสตินช่วยลดอาการอักเสบและมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองได้ดี ในทางยาสมุนไพร
ใช้เปลือกมังคุดตากแห้งต้มกับน้ำหรือย่างไฟ ฝนกับน้ำปูนใส แก้ท้องเสีย
เปลือกแห้งฝนกับน้ำปูนใสใช้รักษาอาการน้ำกัดเท้า แผลเปื่อย
เปลือกมังคุด มีสารป้องกันเชื้อราเหมาะแก่การหมักปุ๋ย


สรรพคุณอื่นๆ :
1.       รักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง และโรคลำไส้
2.       ยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน
3.       ยาแก้บิด (ปวดเบ่งและมีมูก และอาจมีเลือดด้วย) เป็นยาคุมธาตุ
4.       เป็นยารักษาน้ำกัดเท้า รักษาบาดแผล
5.       รสฝาด สมานแผล ใช้ชะล้างบาดแผล แก้แผลเปื่อย แผลเป็นหนอง ยาฟอกแผลกลาย ทาแผลพุพอง

วิธีและปริมาณที่ใช้
1.      รักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง และโรคลำไส้
ใช้เปลือกมังคุดครึ่งผล (ประมาณ 4-5 กรัม) ต้มกับน้ำ ความแรง 1 ใน 10 รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว
ถ้าเป็นยาดองเหล้า ความแรง 1 ใน 10 รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา
2.      ยาแก้อาการท้องเดิน ท้องร่วง
      ใช้เปลือกผลมังคุดตากแห้งต้มกับน้ำปูนใส หรือฝนกับน้ำรับประทาน ใช้เปลือกต้มน้ำให้เด็กรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา ทุก 4 ชั่วโมง ผู้ใหญ่ครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ทุก 4 ชั่วโมง
3.      ยาแก้บิด (ปวดเบ่งและมีมูกและอาจมีเลือดด้วย)
      ใช้เปลือกผลแห้งประมาณ ½ ผล (4 กรัม) ย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้ว หรือบดเป็นผง ละลายน้ำสุก รับประทานทุก 2 ชั่วโมง
4.      เป็นยารักษาแผลน้ำกัดเท้า และแผลพุพอง แผลเน่าเปื่อย
        เปลือกผลสด หรือแห้ง ฝนกับน้ำปูนใสให้ข้น ๆ พอควร ทาแผลน้ำกัดเท้า วันละ 2-3 ครั้ง  จนกว่าจะหาย ทาแผลพุพอง แผลเปื่อยเน่า

ข้อควรระวัง
  ก่อนที่จะใช้ยาทาที่บริเวณน้ำกัดเท้า ควรที่จะ
1.       ล้างเท้าฟอกสบู่ให้สะอาด
2.       เช็ดให้แห้ง
3.       ถ้ามีแอลกอฮอล์เช็ดแผล ควรเช็ดก่อนจึงทายา    
   
คุณค่าด้านอาหาร
       มังคุดประกอบด้วย แร่ธาตุ และวิตามินหลายชนิดที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย
สารเคมี
       Chrysanthemin, Xanthone, Garcinone A, Garcinone B, Gartanin, Mangostin, Kolanone

ขอบคุณข้อมูลดีๆจากhttp://www.rspg.or.th