ไข่
ทานไข่ได้ประโยชน์มากมาย
คำขวัญที่ว่า "กินไข่วันละฟอง ไม่ต้องไปหาหมอ" ของ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ อดีตอธิบดีกรมเกษตรและกรมประมง (พ.ศ.2477-2479) ยังคงเป็นคำขวัญที่ใช้ได้ตลอดกาลไม่ว่าจะยุคใด เพราะไข่ไก่มีคุณค่าทางโภชนาการทางด้านโปรตีนสูง แถมยังปรุงเป็นเมนูอาหารได้อย่างหลากหลาย
ในปัจจุบันอัตราการบริโภคไข่ไก่ ในบ้านเรากลับมีปริมาณการบริโภคไม่ถึง 200 ฟองต่อคนต่อปี ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่นนั้น เขาทานกันปีละไม่ต่ำกว่า 300 ฟอง ต่อคน สาเหตุสำคัญอาจเกิดจากการที่หลายคนยังคงกังวลว่า การกินไข่ไก่วันละฟองหรือหลายฟองนั้นจะก่อผลร้ายต่อสุขภาพ เช่น ระดับคอเลสเตอรอลสูง หรือเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจ แต่เชื่อว่าหลังจากได้อ่านข้อมูลดีๆ จากงานวิจัยชิ้นนี้แล้ว หลายคนอาจเปลี่ยนใจหันมาซื้อไข่ไก่ กินกันอย่างแน่นอน
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Harvard โดย Harvard Nurse' Health Study and the Health Professionals Follow Up Study ได้ทดลองในกลุ่มตัวอย่าง 100,000 คน กินไข่ไก่วันละ 1 ฟอง พบว่า การกินไข่ไก่ไม่ได้ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูง หรือหลอดเลือดอุดตัน และไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ แต่โรคดังกล่าวกลับเกิดจากการกินอาหารที่มีไขมันสูงอย่างเช่น นม เนย ต่างหาก แถมยังพบอีกว่า ไข่ไก่ยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากมาย อาทิ สารต่อต้านอนุมูลอิสระ ที่รู้จักกันดีในเรื่องช่วยชะลอความแก่ รวมทั้งวิตามินบีที่ช่วยเรื่องของกล้ามเนื้อ ป้องกันโรคเหน็บชา และไขมันไม่อิ่มตัว ที่ช่วยลด ผลกระทบจากคอเลสเตอรอล
เช่นเดียวกับสมาคมโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกา (American Heart Association หรือ AHA) ที่นักวิจัยพบภายหลังว่าการกินไข่ไก่ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย จึงได้ออกมาแนะนำใหม่ว่า "กินไข่ที่ไม่เกินอาทิตย์ละ 3 ฟอง" เป็น "สามารถกินได้วันละไม่เกิน 1 ฟอง"
ที่สำคัญไข่ไก่ฟองเล็กๆ โดยเฉพาะในส่วนของไข่แดงจะมีโคลีน (Choline)มากที่สุด ซึ่งโคลีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเซลล์สมอง ที่เริ่มตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์จนกระทั่งสิ้นอายุขัย และยังทำหน้าที่เป็นสารสื่อนำประสาทช่วยให้การทำงานของสมองเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ และยังมีประโยชน์ต่อประสิทธิภาพความจำ โดยเฉพาะช่วยชะลอการสูญเสียความทรงจำในผู้สูงอายุที่เป็นสาเหตุ สำคัญของ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) พร้อมทั้งยังช่วยเรื่องความสามารถในการเรียนรู้ของคนและสัตว์หลายชนิด เพราะฉะนั้นโคลีนจึงเป็นสารอาหารที่จำเป็นของคนทุกเพศทุกวัย
ด้วยประโยชน์ที่มากมายของ "ไข่ไก่" หลายฝ่ายจึงออกมากระตุ้นให้ ผู้บริโภคทานไข่ไก่กันวันละฟอง เพื่อ ส่งเสริมสุขภาพอนามัยของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น วันนี้ คำขวัญที่ว่า "กินไข่วันละฟอง ไม่ต้องไปหาหมอ" จึงเป็นคำขวัญที่ยังใช้ได้ แล้วคุณล่ะ "วันนี้ ทานไข่แล้วหรือยัง"
เพิ่มเติม
คุณค่าทางโภชนาการ
ไข่ไก่ให้กรดอะมิโนจำเป็นทุกชนิด ตลอดจนวิตามินและเกลือแร่อีกหลายชนิด รวมทั้งเรตินอล(วิตามินเอ), ไรโบฟลาวิน (วิตามินบี2), กรดโฟลิก (วิตามินบี9), วิตามินบี6, วิตามินบี12, โคลิน, เหล็ก, แคลเซียม, ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม
วิตามินเอ ดีและอีทั้งหมดในไข่อยู่ในไข่แดง ไข่เป็นหนึ่งในอาหารไม่กี่ชนิดในธรรมชาติที่มีวิตามินดี ไข่แดงขนาดใหญ่ให้พลังงานประมาณ 60 แคลอรี (250 กิโลจูล) ไข่ขาวให้พลังงานประมาณ 15 แคลอรี (60 กิโลจูล) ไข่แดงขนาดใหญ่มีปริมาณคอเลสเตอรอลที่แนะนำให้รับประทานต่อวันที่ 300 มิลลิกรัมมากกว่าสองในสาม แม้การศึกษาหนึ่งจะชี้ว่าร่างกายมนุษย์ไม่อาจดูดซับคอเลสเตอรอลจากไข่ได้มากนัก ไข่แดงมีน้ำหนักคิดเป็รน 33% ของน้ำหนักของเหลวของไข่ ไขมันทั้งหมดอยู่ในไข่แดง น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของโปรตีนเล็กน้อย และสารอาหารอื่นส่วนใหญ่ ไข่แดงยังมีโคลีนทั้งหมด และไข่แดงหนึ่งมีปริมาณเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณที่แนะนำต่อวัน โคลีนเป็นสารอาหารสำคัญต่อพัฒนาการของสมอง และกล่าวกันว่าสำคัญต่อสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรเพื่อประกันพัฒนาการทางสมองของทารก
คอเลสเตอรอลและไขมัน
แคลอรีเกินครึ่งหนึ่งของไข่มาจากไขมันที่อยู่ในไข่แดง ไข่ไก่ขนาดใหญ่ (50 กรัม) มีไขมันอยู่ประมาณ 5 กรัม ผู้ที่รับประทานอาหารคอเลสเตอรอลต่ำอาจต้องลดการบริโภคไข่ อย่างไรก็ดี มีไขมันในไข่เพียง 27% เท่านั้นที่เป็นไขมันอิ่มตัว ได้แก่ กรดปาล์มิติก สเตียริกและไมริสติก ซึ่งมีแอลดีแอลคอเลสเตอรอล ไข่ขาวส่วนใหญ่เป็นน้ำ (87%) และโปรตีน (13%) ไม่มีคอเลสเตอรอล และมีไขมันน้อยมากถึงไม่มีเลย
มีการถกเถียงว่าไข่แดงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหรือไม่ บางวิจัยเสนอว่า คอเลสเตอรอลจากไข่เพิ่มสัดส่วนรวมต่อเอชดีแอลคอเลสเตอรอล ดังนั้นจึงมีผลร้ายต่อภาวะคอเลสเตอรอลของร่างกาย ขณะที่การศึกษาอื่นแสดงว่าการบริโภคไข่ปานกลาง คือ หนึ่งฟองต่อวัน ไม่ปรากฏว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจในผู้มีสุขภาพดี การศึกษาในผู้ใหญ่เกือบ 10,000 คนใน พ.ศ. 2550 แสดงให้เห็นว่าไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคไข่ปานกลาง (หกฟองต่อสัปดาห์) กับโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมอง ยกเว้นในประชากรผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ อีกการศึกษาหนึ่งสนับสนุนแนวคิดว่าการบริโภคไข่ปริมาณมากเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
การแพ้
ไข่เป็นอาหารที่พบการแพ้บ่อยที่สุดอย่างหนึ่งในทารก หากไม่ได้สัมผัสไข่มากๆ ทารกมักหายจากอาการแพ้ไข่ได้เมื่อโตขึ้น ส่วนใหญ่พบเป็นการแพ้ไข่ข่าวมากกว่าไข่แดง
นอกจากการแพ้แล้ว บางคนอาจมีอาการผิดปกติเมื่อกินไข่ขาว แต่ไม่ได้เป็นผลจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ก็ได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ